ตอนที่ 4 การสร้าง Project และทดสอบการทำงานเริ่มต้น

ตอนที่ 4 การสร้าง Project และทดสอบการทำงานเริ่มต้น

ในตอนนี้เราจะมาทำความเข้าใจกับการสร้าง Robot ด้วยโปรแกรม UiPath กันก่อน ซึ่งจะมีขั้นตอนคล้ายกับการเขียนโปรแกรม แต่ไม่มีความจำเป็นต้องจำคำสั่งใดๆ เพราะ UiPath ให้เราใช้คำสั่งต่างๆ ด้วยไอคอนแบบลากวางหรือคลิกเลือกเท่านั้น

โดย Project แรก จะเป็นการสร้าง Robot ให้ตัวสอบเงื่อนไขว่าตัวแปรชื่อ var1 มีค่ามากกว่า 3 หรือไม่ ถ้ายังมีค่าน้อยกว่า ก็ให้แสดงค่าตัวแปรออกมาว่ามีค่าเท่าไหร่ แต่ถ้ามีค่ามากกว่าแล้วก็ให้จบโปรแกรมไป ซึ่งเป็น Robot แบบง่ายๆ ไม่มีขั้นตอนซับซ้อน เพื่อให้ผู้อ่านสามารถทำรู้จักและเข้าใจขั้นตอนต่างๆ ของการใช้โปรแกรมกันก่อน

  1. เปิดโปรแกรม UiPath Studio ขึ้นมา แล้วคลิกคำสั่ง Process เพื่อสร้าง Project ใหม่

2. จะปรากฏหน้าต่าง New Blank Process กำหนดชื่อ Project ในช่อง Name และกำหนดโฟลเดอร์สำหรับจัดเก็บไฟล์ในช่อง Location หากต้องการกำหนดคำอธิบายรายละเอียดต่างๆ ของ Project สามารถกำหนดได้ที่ช่อง Description แล้วคลิกปุ่ม Create

3. หน้าต่างโปรแกรม UiPath Studio จะเปิดขึ้นมา การสร้าง Robot จะอยู่ในส่วนของ Design โดยมีส่วนประกอบหลักดังนี้

  • หมายเลข 1 คือ ส่วนของเมนูคำสั่งต่างๆ ที่สำคัญ
  • หมายเลข 2 คือ ส่วนของ Project และเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ในการสร้าง Robot
  • หมายเลข 3 คือ ส่วนของ Workflow หรือพื้นที่ทำงานเพื่อใช้สร้าง Robot
  • หมายเลข 4 คือ ส่วนของ Properties เพื่อกำหนดค่าหรือคำสั่งย่อยต่างๆ เพิ่มเติม

4. ที่ส่วนของ Workflow ในตอนแรกอาจจะยังไม่สามารถใช้งานได้ ให้คลิกคำสั่ง Open Main Workflow

5. การใช้คำสั่งใน UiPath สามารถทำได้หลายแบบ แต่ที่นิยมมากที่สุดก็คือ การลากไอคอนคำสั่งมาไว้ที่ส่วนของ Workflow โดยคลิกที่คำสั่ง Activities ด้านล่างก่อน จากนั้นคลิกคำสั่ง Assign มาไว้ที่บริเวณเครื่องหมาย + หรือที่เรียกว่าปุ่ม Add Activity

6. เราจะได้บล็อกคำสั่ง Assign ขึ้นมา ซึ่งใช้ในการกำหนดค่า โดยจะอยู่ภายใต้บล็อก Sequence จากนั้นให้สร้างตัวแปรสำหรับเก็บค่าที่เป็นเลขจำนวนเต็ม โดยคลิกคำสั่ง Variables ที่อยู่ด้านล่างของ Workflow

7. คลิกคำสั่ง Create Variable (ถ้าไม่ปรากฏคำสั่งนี้ ให้คลิกช่อง To ในบล็อก Assign) แล้วตั้งชื่อตัวแปรเป็น var1 และช่อง Variable type กำหนดเป็น Int32 (หมายถึงตัวแปรประเภทเลขจำนวนเต็ม) ส่วนที่ช่อง Scope กำหนดเป็น Sequence (หมายถึงตัวแปรนี้มีขอบเขตให้เรียกใช้อยู่ใน Sequence นี้เท่านั้น)

8. ที่บล็อก Assign คลิกที่ช่อง To แล้วพิมพ์ชื่อตัวแปร var1 ลงไป จะเห็นว่าตอนนี้โปรแกรมรู้จักตัวแปรชื่อนี้แล้ว เพราะโปรแกรมจะแสดงคำสั่งหรือรายชื่อที่เกี่ยวกับตัวแปรต่างๆ โดยมีชื่อ var1 ขึ้นมาให้เลือกด้วย

9. กำหนดให้ตัวแปร var1 มีค่าเท่ากับ 1 ดังรูป

10. คลิกปุ่ม + (Add Activity) เพื่อเพิ่มบล็อกของ Activity ใหม่เข้ามา

11. ด้านบนของ Workflow จะแสดงรายชื่อคำสั่งของ Activity ต่างๆ ให้เลือก โดยให้เลือกไปที่คำสั่ง while แต่ถ้าหาไม่พบเพราะมีคำสั่งให้เลือกเยอะ ให้พิมพ์คำสั่งที่ต้องการค้นหาลงไปในช่อง Search for activity to add ที่อยู่ด้านบนก็ได้

12. เมื่อพบคำสั่ง while แล้ว ให้ดับเบิ้ลคลิกเพื่อเลือกคำสั่งนี้

13. จะได้บล็อก While เข้ามาใน Sequence ที่ช่อง Condition กำหนดเงื่อนไข var1 <= 3 หมายความว่า ถ้าตัวแปร var1 ยังมีค่าน้อยกว่าหรือเท่ากับ 3 ให้เข้ามาทำตามคำสั่งใน Body

14. คลิกปุ่ม + ในบล็อก Body

15. คลิกเลือกคำสั่ง Message box

16. จะได้บล็อก Message Box เข้ามาใน Body ให้พิมพ์ชื่อตัวแปร var1 ลงไป หมายความว่า เมื่อเข้ามาทำงานใน Body จะมีหน้าต่าง Message ขึ้นมา โดยในหน้าต่างนี้จะแสดงค่า var1 ตั้งแต่ 1, 2, 3 เมื่อ var1 มีค่ามากกว่า 3 ให้จบโปรแกรม

17. ดังนั้นต้องเพิ่มเงื่อนไขเข้ามาอีก 1 อย่างเพื่อเพิ่มค่าให้กับตัวแปร var1 ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมากกว่า 3 ให้คลิกปุ่ม +

18. คลิกเลือกคำสั่ง Assign แล้วที่บล็อก Assign ที่เพิ่มเข้ามาใหม่ ให้เพิ่มค่าให้กับตัวแปร var1 โดยกำหนดให้ var1 = var1 + 1

19. สรุปบล็อกทั้งหมดใน Workflow ของ Project นี้

20. ทดสอบ Project ว่ามีข้อผิดพลาดหรือทำงานตามที่ได้เขียนคำสั่งไว้หรือไม่ โดยคลิกปุ่ม Debug File > Run File

21. หากไม่มีข้อผิดพลาดใดๆ โปรแกรมจะทำงานโดยแสดงหน้าต่าง Message box ขึ้นมา 3 หน้าต่าง โดยแสดงค่า 1, 2, 3 แล้วจึงจบโปรแกรม เมื่อตัวแปร var1 มีค่ามากกว่า 3

นี่คือตัวอย่างของการสร้าง Robot แบบง่ายๆ เพื่อให้ผู้อ่านที่ไม่เคยใช้โปรแกรม UiPath มาก่อน ได้เริ่มทำความรู้จักและเข้าใจขั้นตอนการทำงานของตัวโปรแกรม ซึ่งจริงๆ แล้ว UiPath มีความสามารถที่จะทำอะไรต่างๆ ได้มากมายกว่านี้ โปรดติดตามในบทความต่อไปนะครับ

Close Menu