ตอนที่ 8 : 10 เทคนิค Backup เครื่อง VM อย่างไรให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด

ตอนที่ 8 : 10 เทคนิค Backup เครื่อง VM อย่างไรให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด

เพื่อให้การ Backup ด้วยโปรแกรม Veeam Backup ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ผมมี 10 เทคนิคที่อยากจะแนะนำให้ผู้อ่านได้ลองนำไปใช้กันดู โดยเทคนิคเหล่านี้เป็น Best Practices ที่ทางบริษัทผู้พัฒนา Veeam แนะนำให้นำไปใช้กับเครื่อง VM ของโปรแกรม VMware vSphere เท่านั้น หากเป็น Hypervisor อื่นอาจให้ผลที่ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพมากนัก

เทคนิคที่ 1 ใช้เวอร์ชั่นล่าสุดของ Veeam และ VMware อยู่เสมอ

ทุกครั้งที่มีการอัปเดตเวอร์ชั่นมักจะมีการปรับปรุงความสามารถการ Backup ของ Veeam ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะใต้สภาพแวดล้อมของ VMware vSphere ที่จะได้ผลจากการอัปเดตนี้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ดังนั้นก่อนการ Backup เราควรหมั่นตรวจสอบว่าเวอร์ชั่นที่ใช้ใหม่ล่าสุดหรือยัง หากยังก็ควรอัปเดตทั้งในส่วนของโปรแกรม Veeam และ VMware ให้เรียบร้อยก่อน เพื่อลดข้อผิดพลาดจากการทำงาน และมั่นใจได้ว่าหลังจากการอัปเดตไปแล้ว จะทำให้การ Backup และการกู้คืนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด

เทคนิคที่ 2 เลือกโหมดการ Backup ให้เหมาะสม

การ Backup เครื่อง VM ด้วย Veeam มีโหมดการทำงานที่ใช้ในการรับส่งข้อมูลเพื่อการ Backup ระหว่าง Storage กับ Host ที่เรียกว่า Transport Mode อยู่ 3 โหมด ซึ่งแต่ละโหมดก็มีจุดเด่น/จุดด้อยที่ต่างกัน การเลือกว่าจะใช้โหมดไหนในการ Backup จึงขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและความต้องการของผู้ใช้แต่ละคน

  • Network Mode เป็นโหมดการทำงานที่สะดวกที่สุดในการ Backup ข้อมูล เพราะไม่ต้องมีการกำหนดค่าใดๆ เป็นพิเศษ จะอาศัยการรับส่งข้อมูลเพื่อใช้ในการ Backup ผ่าน Management Network ของ Host ด้วยโปรโตคอล NBD (Network Block Device) ซึ่งจะมีทั้งการเข้ารหัสและไม่เข้ารหัส โดยไม่ต้องมีการ Mount อุปกรณ์ใดๆ เข้ามาเพิ่มเติม
  • Direct storage access Mode เป็นโหมดที่ใช้ในการ Backup โดยรับส่งข้อมูลผ่าน Shared Storage โดยตรง ทำให้ไม่มีผลกระทบกับประสิทธิภาพการทำงานของ Host ซึ่งถ้ามีการเชื่อมต่อ Shared Storage ผ่าน Interface ความเร็วสูงอย่าง Fibre Channel ก็จะทำให้การ Backup เป็นไปอย่างรวดเร็ว
  • Virtual Appliance (Hot-Add) เป็นโหมดการทำงานที่จะต้อง Mount ไดรฟ์หรือ Virtual Disk เข้ามาก่อน จากนั้นจึงจะสามารถ Backup ข้อมูลผ่าน Storage ที่ถูก Mount เข้ามาได้ ทำให้อาจเกิดความล่าช้าในการทำงานไปบ้างในช่วงแรก และควรหลีกเลี่ยงการ Mount ผ่านโปรโตคอล NFS เพราะเป็นโปรโตคอลที่เหมาะสำหรับ Direct storage access มากกว่า ไม่เหมาะสมที่จะเอามาใช้ในโหมดนี้ แต่โหมดนี้มีข้อดี คือ ไม่มีผลกระทบกับการทำงานของ Interface หรือการ์ดแลนใดๆ ใน Host และสามารถ Restore ข้อมูลกลับคืนมาได้ทั้ง Disk ที่เป็นประเภท Thin หรือ Thick

หากไม่แน่ใจว่าจะเลือกโหมดการทำงานไหนดี แนะนำว่าที่หน้าต่าง Transport Mode ให้คลิกเลือกเป็น Automatic selection เพื่อให้ Veeam พิจารณาจากการกำหนดค่าการทำงานของตัวโปรแกรม ความเร็วในการเข้าถึง และประเภทของ Datastore ซึ่งอาจจะได้ผลที่เป็นค่ากลางๆ ไม่ดีที่สุด แต่ก็ไม่แย่ที่สุด แต่ถ้าเลือกค่าด้วยตัวเองควรแน่ใจว่าค่าที่เลือกเป็นค่าที่เหมาะสมกับการทำงานของเรามากที่สุด (ควรทดลองการ Backup จากหลายๆ โหมดทั้งแบบ Full backup และ Increamental แล้วนำมาเปรียบเทียบกัน)

เทคนิคที่ 3 วางแผนการ Restore

จากเทคนิคที่ 2 การเลือกโหมดในการ Backup ให้เหมาะสม จะมีความสำคัญอย่างมากต่อการ Restore เพราะแต่ละโหมดของการ Backup จะมีทำให้มีข้อจำกัดในการ Restore ที่แตกต่างกันดังนี้

การเลือก Network Mode เป็นตัวเลือกที่ใช้งานง่ายเพราะไม่ต้องมีการคอนฟิกค่าใดๆ จะใช้การรับส่งข้อมูลในการ Backup ผ่านการ์ดแลนที่ทำหน้าที่เป็น Management Network แต่โหมดนี้จะทำให้การ Restore มีความล่าช้ามากที่สุด เพราะมีข้อจำกัดในเรื่องของ Bandwidth ที่อาจไม่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและมักมีปัญหาเรื่องคอขวดของการ์ดแลนหรือ Interface ที่ใช้ในการรับส่งข้อมูล แนะนำว่าเพื่อแก้ปัญหานี้ควรเลือกใช้การ์ดแลนที่รองรับความเร็ว 10 Gbps

สำหรับ Direct storage access Mode จะเป็นตัวเลือกที่ดีทั้งในเรื่องของการ Backup และ Restore เพราะไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องของคอขวดหรือข้อจำกัดของ Bandwidth เนื่องจากส่วนใหญ่มักใช้การเชื่อมต่อผ่านสายสัญญาณความเร็วสูงอย่าง Fibre Channel แต่จุดด้อยคือ สามารถทำ Restore ข้อมูลได้เฉพาะ Disk ประเภท Thick เท่านั้น

ส่วน Virtual Appliance Mode หรือ Hot-Add ถึงแม้จะต้องเสียเวลาในการ Mount ไดรฟ์หรือ Virtual Disk เพื่อใช้ในการสร้าง Datastore แต่จุดเด่นในเรื่องของการ Restore ก็คือ สามารถทำได้ทั้ง Disk ที่เป็นประเภท Thin และ Thick

เทคนิคที่ 4 ติดตั้ง VMware Tools

เพื่อให้เครื่อง VM สามารถทำงานร่วมกับ Veeam ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเรียกใช้ความสามารถต่างๆ ของ Veeam ได้อย่างครบถ้วน เช่น ความสามารถของ Application-aware image processing หรือการทำ SureBackup จำเป็นต้องติดตั้งโปรแกรม VMware Tools ลงไปในเครื่อง VM เหล่านั้นด้วย

เทคนิคที่ 5 สร้าง Repository และ Backup Job ให้มี Guest ประเภทเดียวกัน

การสร้าง Repository และ Backup Job ให้สอดคล้องกันจะทำให้การ Backup เครื่อง VM จำนวนมากๆ ทำได้อย่างรวดเร็ว เช่น ถ้าเป็นการสร้าง Repo สำหรับระบบปฏิบัติการ Windows Server ใน Backup Job ก็ควรเลือกเครื่อง VM ที่เป็น Windows Server เท่านั้น เพื่อให้มีโครงสร้างของ Data block ที่ซ้ำๆ กัน ทำให้การทำ De-duplication และการขจัด Data block ที่เป็น 0 (พื้นที่ที่ไม่ได้มีการใช้งาน) ของ Veeam เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ขนาดของการ Backup ที่ได้มีขนาดเล็กลงและใช้เวลาในการ Backup ได้อย่างรวดเร็ว

เทคนิคที่ 6 ควรใช้ SAN

การใช้ SAN ร่วมกับโหมด Direct storage access ไม่ว่าจะผ่าน Fibre Channel หรือ iSCSI จะทำให้การ Backup และ Restore ในโปรแกรม Veeam เป็นไปอย่างรวดเร็วและได้ประสิทธิภาพสูงสุด

เทคนิคที่ 7 เลือกโหมดในการบีบอัด (Compression) ให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด

ในการ Backup ที่ขั้นตอน Storage หากคลิกปุ่ม Advanced จะสามารถเลือกโหมดการบีบอัดข้อมูลได้ โดยคลิกที่แท็บ Storage จากนั้นที่ช่อง Compression level จะมีตัวเลือกดังนี้

  • None ไม่มีการบีบอัดข้อมูลแต่จะทำให้ข้อมูลที่ได้จากการ Backup มีขนาดใหญ่ ซึ่งอาจส่งผลกับ Bandwidth ที่ใช้ในการรับส่งข้อมูลระหว่างการ Backup ที่จะต้องใช้ปริมาณมากขึ้น
  • Dedupe-friendly เป็นตัวเลือกที่แนะนำให้ใช้กับการ Backup ข้อมูลในโหมด Virsual Appliance หรือการ Backup ไปเก็บไว้ยังอุปกรณ์ภายนอกผ่านเครือข่าย WAN เพราะโปรแกรมจะลบไฟล์ที่มีความซ้ำซ้อนหรือไม่มีการใช้งานออกไปก่อนที่จะทำการบีบอัดข้อมูล ทำให้ได้ไฟล์ Backup ที่มีขนาดเล็ก
  • Optimal compression โปรแกรม Veeam จะใช้ค่าที่เหมาะสมที่สุดในการบีบอัดข้อมูล เพื่อให้ได้ไฟล์ Backup ที่มีขนาดเล็ก และไม่มีผลกระทบกับประสิทธิภาพการทำงานของฮาร์ดแวร์ รวมถึงไม่สิ้นเปลือง Bandwidth มากเกินไป
  • High เป็นการเพิ่มรูปแบบการบีบอัดข้อมูลที่มากกว่าปกติถึง 10% ด้วยค่าการทำงานที่เหมาะสมกับประสิทธิภาพของฮาร์ดแวร์มากที่สุด ทำให้ไฟล์ Backup ที่ได้มีขนาดเล็กกว่าปกติ
  • Extreme เป็นการเพิ่มรูปแบบการบีบอัดข้อมูลที่มากกว่าปกติถึง 3% ด้วยวิธีการคำนวณที่เค้นประสิทธิภาพของฮาร์ดแวร์ให้มากที่สุด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของ CPU ที่ต้องทำงานหนักมากขึ้นอีก 2 เท่า

เทคนิคที่ 8 เลือกโหมดการ Backup ให้เหมาะสมกับการใช้งาน

ในการ Backup โปรแกรม Veeam จะมีการกำหนดขนาดของ Data block ด้วยขนาดที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ขั้นอยู่กับประเภทของ Storage ที่นำมาใช้ในการจัดเก็บข้อมูล โดยสามารถเลือกตัวเลือกให้เหมาะสมกับการใช้งานได้ ดังนี้

  • Local target โหมดการทำงานนี้จะเหมาะสำหรับการ Backup ข้อมูลลง SAN และ DAS เพราะจะมีการใช้ขนาดของ Data block ที่มีขนาดใหญ่ ทำให้การรับส่งข้อมูลได้มากขึ้นในแต่ละครั้ง ส่งผลให้การ Backup เสร็จเร็วขึ้น แต่อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของการทำ De-duplication ที่จะลดน้อยลง  ทำให้จะได้ไฟล์ Backup ที่ใหญ่ขึ้น
  • LAN target โหมดการทำงานนี้เหมาะสำหรับการ Backup ข้อมูลลง NAS ที่มีขนาดของ Data block ที่เล็ก ช่วยให้การทำ De-duplication สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด แต่จะทำให้ประมวลผลการรับส่งข้อมูลที่มากขึ้นในแต่ละรอบ ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพในการ Backup ที่จะลดลงไปบ้าง (แนะนำความเร็วที่ 1 Gbps Ethernet)
  • WAN target โหมดการทำงานนี้เหมาะสำหรับการ Backup แบบ Offsite หรือมีการ Replicate ข้อมูลไปเก็บไว้ที่ Site อื่นผ่านเครือข่าย WAN เพราะโหมดนี้จะทำให้ขนาดของ Data block มีขนาดเล็กที่สุด เพื่อให้สามารถรับส่งข้อมูลผ่านการเชื่อมต่อเครือข่ายที่มีความเร็วไม่มากนักได้เป็นอย่างดี

เทคนิคที่ 9 ให้ความสำคัญในการจัดลำดับการ Backup และ Restore ของเครื่อง VM

ในกรณีที่มีเครื่อง VM จำนวนหลายเครื่องอยู่ใน Job เดียวกัน ควรให้ความสำคัญกับการจัดลำดับทั้งในส่วนของการ Backup และ Restore เพราะ Veeam จะทำงานโดยเรียงตามลำดับของเครื่อง VM ที่เราได้กำหนดไว้ในขั้นตอนของ Virtual Machines

หากการจัดลำดับไม่เหมาะสม เวลาที่เครื่อง VM ถูก Restore กลับมาทำงานอีกครั้ง ก็อาจทำให้เกิดการเชื่อมต่อที่ผิดพลาดระหว่างเครื่อง VM ด้วยกันเอง เช่น เครื่อง VM ที่ทำหน้าที่เป็น Firewall, Virtual Disk, Management หรือ Controller ควรถูก Restore กลับมาก่อนเครื่องอื่นๆ ดังนั้นก็ควรจัดลำดับเครื่องที่ทำหน้าที่เหล่านี้เป็นอันดับต้นๆ

เทคนิคที่ 10 กำหนดความเร็วการอ่านและเขียนข้อมูลในการ Backup ให้เหมาะกับแต่ละ Job

               ในส่วนของ Backup Repository เราสามารถกำหนดความเร็วในการอ่านและเขียนข้อมูลเพื่อใช้ในการ Backup ตามที่ต้องการได้ ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะสมกับการ Backup ในแต่ละ Job ที่อาจมีความสำคัญและต้องการความเร็วในการ Backup ไม่เท่ากัน

               โดยขั้นตอน Repository คลิกเลือกคำสั่ง Limit read and write data rates to: แล้วกำหนดความเร็วที่ต้องการลงไป สำหรับความเร็วช้าที่สุดก็คือ 1 MB/s และสูงสุดไม่เกิด 1024 MB/s หากไม่กำหนดค่าใดๆ เลย จะได้เป็นค่า Default ที่ใช้ประสิทธิภาพสูงสุดเท่ากันหมดในทุกๆ Job ซึ่งอาจได้ค่าที่ไม่เหมาะสม เช่น ช้าหรือเร็วเกินไป หรือเครื่อง VM ที่จำเป็นต้อง Backup เสร็จก่อน ก็อาจกลายเป็นเสร็จทีหลังได้

Close Menu